การเก็บเกี่ยวผลผลิตไผ่

การจำหน่าย

การหาตลาด

ลำไผ่

  1. ตลาดก่อสร้าง / งานไม้ไผ่โครงสร้าง เช่น ลำไผ่ซางหม่น ไผ่ตง ลำตรง แข็งแรง ใช้ในงานรีสอร์ต งานตกแต่ง อาคารไม้ไผ่
  2. ตลาดจักสาน / งานหัตถกรรม ลำไผ่เปลือกบาง เช่น ไผ่สีสุก ไผ่นวล ไผ่บง จำหน่ายแก่กลุ่มช่างจักสาน ชุมชน หรือโรงงานจักสาน
  3. ตลาดไม้ประดับ–ตกแต่ง ลำไผ่สีพิเศษ เช่น ไผ่ดำ ไผ่เลี้ยงลาย ไผ่เหลือง ตลาดร้านต้นไม้ ร้านกาแฟ สวนตกแต่งบ้าน
  4. ทางโซเชียล เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ ติ๊กต๊อก เว็บไซด์
  5. ขายตรงร้านค้าผู้ประกอบการขายลำไผ่
  6. โรงงานแปรรูป เช่น ไผ่แช่น้ำยา ไผ่อัดน้ำยา งานเฟอร์นิเจอร์ งานตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น
  7. ขายผ่านนายหน้า ผ่านคนรับซื้อรับตัดไผ่

หน่อ

  1. ตลาดสด / ตลาดชุมชน : ขายหน่อสดช่วงเช้า–เย็น วันต่อวัน ใช้พันธุ์ไผ่หวาน เช่น ไผ่เลี้ยงหวาน กิมซุง ตงศรีประจัน
  2. ร้านอาหาร / โรงงานอาหารแปรรูป : ส่งหน่อสดจำนวนมากแบบคัดเกรด ต้องมีระบบบรรจุ–ขนส่ง (รถห้องเย็น หรือกล่องโฟม)
  3. ตลาดออนไลน์ / ขายตรงผู้บริโภค : ส่งหน่อแบบปอกเปลือกหรือหน่อแปรรูปพร้อมปรุง ต้องมีเรื่องการสร้างแบรนด์–บรรจุภัณฑ์น่าสนใจ
  4. ขายเองผ่านช่องการขายทางโซเชียล ขายในพื้นที่ใกล้เคียง
  5. ขายส่งตลาดหลัก ๆ เช่น สี่มุมเมือง ตลาดไท
  6. รวมกลุ่มขาย เช่น วิสาหกิจชุมชน

แนวทางหาตลาดเพิ่ม

  1. เข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรขายออนไลน์ (เช่น ไผ่เศรษฐกิจ, เกษตรปลอดภัย)
  2. ทำ Facebook Page / LINE OA ของสวนไผ่
  3. ทดลองออกบูธสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัด / งานอีเวนต์ OTOP
  4. จับกลุ่มกับร้านอาหารท้องถิ่น/รีสอร์ต ส่งตรงแบบรายสัปดาห์

 

การกำหนดราคา

1. ปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดราคา

  • พันธุ์ไผ่ : พันธุ์หายาก / ลำใหญ่ / หน่อหวานราคาจะสูง
  • ฤดูกาล : หน่อไผ่ฤดูฝนราคาถูก (หน่อออกเยอะ) ฤดูแล้งราคาสูง
  • คุณภาพสินค้า : หน่ออ่อน ขนาดพอเหมาะ ปอกง่าย / ลำตรง ไม่แตก
  • ต้นทุนการผลิต : รวมค่าขนส่ง ปุ๋ย แรงงาน / ถ้าแปรรูป ต้องรวมค่าแพ็กเกจ
  • ตลาดเป้าหมาย : ตลาดค้าส่งราคาจะต่ำกว่าออนไลน์ / ขายตรงผู้บริโภค

2. กำหนดเอง ขายปลีก ขายส่ง ขายที่สวน ขายรวมค่าขนส่ง

3. อ้างอิงจากร้านค้า หรือผู้ประกอบการที่มีอยู่แล้ว

4. การกำหนดราคาควรอิงจากต้นทุนจริง + ค่าแรง + ค่าขนส่ง + มูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปหรือแบรนด์

5. ตัวอย่างราคาขาย (โดยประมาณ ปี 2567–2568)

ประเภท ราคาต่อหน่วย
หน่อไผ่สด (ตลาดชุมชน) 10–25 บาท/กก.
หน่อไผ่หวานปอกเปลือกพร้อมส่ง 40–60 บาท/กก.
หน่อไม้ดอง (บรรจุขวด 500 มล.) 30–50 บาท
ลำไผ่สด (ใช้โครงสร้าง/งานช่าง) 15–50 บาท/ลำ (แล้วแต่ขนาด/พันธุ์)
ลำไผ่พรีเมียม (ตกแต่ง/เฟอร์นิเจอร์) 80–300 บาท/ลำ
ชาใบไผ่แห้ง (20 ซอง) 60–150 บาท

การเก็บเกี่ยวผลผลิตไผ่

การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไผ่สามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับวัตถุประสงค์ เช่น เก็บหน่อเพื่อบริโภค–จำหน่าย, ตัดลำใช้ในงานก่อสร้าง–จักสาน, หรือใช้กิ่ง–เหง้าเพื่อขยายพันธุ์

การตัดหน่อ

  1. เริ่มตัดได้หลังจากปลูก 1.5–2 ปีขึ้นไป
  2. เก็บในช่วง ต้นฤดูฝน – ปลายฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงแตกหน่อมากที่สุด
  3. ตัดหน่อช่วงเช้าจะได้คุณภาพดี อย่าให้โดนแดด เพื่อลดการสูญเสียน้ำ
  4. ตัดหน่อสูง 20-60 ซม.แล้วแต่ชนิดไผ่
  5. ตัดหน่อ 60-70% ของปริมาณหน่อที่ออก
  6. หน่อเล็กตัดด้วยมีดสแตนเลส หน่อใหญ่ตัดด้วยเสียม
  7. ใช้มีดตัดให้ชิดพื้น (ไม่ให้ตัดลึกจนโดนเหง้า)
  8. หลีกเลี่ยงการเหยียบหรือหักหน่อจากโคน เพราะจะทำให้เหง้าเสียหาย
  9. คัดเลือกหน่อสมบูรณ์ ปลายแหลม เปลือกใส

การตัดลำไผ่

  1. ตัดลำที่อายุ 2.5 - 3 ปี เป็นช่วงที่เนื้อไม้แน่น แข็งแรง เหมาะกับงานโครงสร้างและจักสาน
  2. หากตัดอายุน้อยเกินไป ลำจะอ่อน เปราะ และหดตัวมากเมื่อแห้ง
  3. ตัดช่วงโคนติดพื้นให้ได้มากที่สุด
  4. ตัดลำไผ่ช่วงหน้าแล้งดีที่สุด
  5. ตัดลำปิดข้อทั้งโคนทั้งปลาย กันลำแตกช่วงขนย้าย
  6. คัดเฉพาะลำที่ตรง แข็งแรง ไม่มีรอยแตกหรือโรค
  7. ตัดเฉพาะลำแก่ในแต่ละกอ ไม่ตัดลำอ่อนหรือใหม่เกินไป
  8. หลังตัด ควรนำไปบ่ม หรือตากลดความชื้นก่อนใช้งานหรือส่งจำหน่าย

การตัดกิ่งชำ

  1. ตัดจากลำไผ่อายุ 8–12 เดือน (ยังเขียว ไม่แก่)
  2. ตัดเฉียงเล็กน้อยใต้ข้อล่างเพื่อให้ออกรากง่าย
  3. กิ่งชำที่ดีจะต้องมีตาสมบูรณ์ ไม่แห้ง ไม่บอด
  4. ควรตัดในช่วงเช้า และชำทันทีหรือแช่น้ำก่อนชำ หากไม่ใช้ทันที ควรเก็บในที่ร่มและพรมน้ำเป็นระยะ
  5. ตัดให้ติดลำต้นหรือติดข้อด้วยยิ่งดี
  6. ตัดกิ่งชำที่ไม่อ่อนเกินไป (กาบหลุด) และไม่แก่เกินไป (สีเริ่มเหลือง)
  7. ตัดใบออกให้หมดกันคายน้ำ
  8. ตัดยาว 3 - 4 ข้อ จากช่วงโคนกิ่ง

การขุดเหง้า

  1. ขุดเหง้า ควรเริ่มเดือนมีนาคม – พฤษภาคม
  2. ดินยังชื้น ขุดง่าย และเหง้ายังไม่หยุดเจริญเติบโต
  3. ลำที่ขุด ต้องเป็นลำของปีล่าสุด
  4. ใช้จอบหรือเสียมขุดลึกประมาณ 30–50 ซม. โดยรอบ
  5. เลือกเหง้าที่มี รากหลัก + ตา + หน่ออ่อน อย่างน้อย 1–2 ตา
  6. ตัดสูง 0.50 - 1.00 ม.
  7. ตัดใบออกให้หมด
  8. ตัดลำสูงจากข้อไม่เกิน 5 ซม.
  9. เหง้าที่ขุดแล้วควรชำทันที หรือคลุมวัสดุชื้นเพื่อป้องกันรากแห้ง

แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ

  1. วางแผนตัดแบบหมุนเวียน แยกแปลงหรือหมุนกอ เพื่อไม่ให้กอใดกอหนึ่งโทรม
  2. จดบันทึกอายุลำ/หน่อ เพื่อใช้วางแผนเก็บเกี่ยวล่วงหน้า
  3. ใช้เครื่องมือที่ สะอาด คม และเหมาะสม เช่น มีดเคียว, เลื่อยญี่ปุ่น
  4. หากทำเชิงธุรกิจ ควรจัด พื้นที่พักผลผลิต (ตัด–ล้าง–บ่ม–บรรจุ) ให้เป็นระบบ
  5. เก็บหน่อเช้า–เย็น ใส่กระสอบ/ลังโปร่ง คลุมผ้าเปียกและแช่เย็นเพื่อยืดอายุ
  6. ตัดลำในช่วงเดือนที่เหมาะสม (เช่น ฤดูหนาว ลำจะแข็งแรง น้ำในลำต่ำ) เพื่อลดการหดตัว/บิดตัวหลังตัด

การดูแลรักษา

ระบบน้ำ การให้น้ำ (ปริมาณความต้องการน้ำ ในแต่ละช่วงเดือน)

รูปแบบการให้น้ำ

  1. ช่วงแรกหลังปลูก (0–3 เดือน)
    • ให้น้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน
    • ใช้ watering can หรือระบบหยด
  2. หลังตั้งตัวแล้ว (3 เดือนขึ้นไป)
    • ให้น้ำสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นในฤดูแล้ง
    • ควรให้น้ำลึกถึงราก (อย่างน้อย 20 ซม.)
  3. ระบบน้ำที่เหมาะสม
    • ระบบน้ำหยด ใช้กรณีแหล่งน้ำมีน้อย ประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งน้ำตรงโคน
    • ระบบมินิสปริงเกอร์ เหมาะกับพื้นที่ขนาดกลาง-ใหญ่ แหล่งน้ำมีพอทำระบบ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง น้ำพอสำหรับไผ่ที่ปลูก
    • การให้น้ำด้วยแรงงานคน สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก หรือสวนครัว
  4. ไผ่เป็นพืชที่ตอบสนองต่อความชื้นสูง หากขาดน้ำจะไม่แตกหน่อ ไม่แตกกอ และชะงักการเจริญเติบโต

การใส่ปุ๋ย

  1. ช่วงแรก (ปลูกใหม่ – 6 เดือน)
    • ปุ๋ยคอกเก่า 0.5 – 1 กก./ต้น ทุก 30 วัน
    • ปุ๋ยอินทรีย์หมักจุลินทรีย์ชีวภาพ (หยอดรอบโคนหรือราดน้ำ)
  2. ช่วงเร่งการแตกหน่อ / แตกลำ
    • สูตร NPK เช่น 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 50–100 กรัม/ต้น/เดือน
    • ปุ๋ยหมักหรือขี้วัว 1–2 กก./ต้น ทุก 2–3 เดือน
  3. ช่วงบำรุงลำ / ก่อนเก็บเกี่ยว
    เพิ่มโพแทสเซียม (K) เช่น 0-0-60 หรือขี้เถ้าแกลบ เพื่อให้ลำไผ่เหนียว ไม่เปราะ
  4. ระยะเวลาการใส่ปุ๋ย
    ปีละ 2 - 3 ครั้ง ช่วงฤดูฝน หรือฤดูร้อน (หน้าแล้ง) ที่ให้ระบบน้ำ
  5. ไผ่ตอบสนองดีต่อ ธาตุอาหารหลักและอินทรียวัตถุ ควรใส่ปุ๋ยต่อเนื่องเป็นประจำ

การสางกอ

  1. ทำเมื่อกอมีอายุ 2 ปีขึ้นไป และมีลำหนาแน่นเกินไป
  2. ตัดลำแก่ (อายุเกิน 3 ปี) และลำที่คด งอ ไม่สมบูรณ์
  3. เว้นลำอายุ 1–2 ปี ที่สมบูรณ์ไว้สำหรับใช้ขยายพันธุ์หรือเก็บผลผลิต
  4. ควรตัดในฤดูแล้งหรือต้นฤดูฝน และเว้นการตัดในช่วงไผ่ออกหน่อ
  5. ประโยชน์ของการสางกอ
    • เพิ่มการถ่ายเทอากาศ
    • ลดการระบาดของโรค–แมลง
    • กระตุ้นให้กอแตกหน่อใหม่ และมีคุณภาพดีขึ้น
    • ทำให้ไผ่มีฟอร์มสวย ลำตรง เหมาะสำหรับใช้ลำหรือตัดหน่อ   
  6. แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ
    • คลุมโคนไผ่ด้วยฟางหรือใบไม้แห้ง เพื่อรักษาความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุ
    • ใช้ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หรือไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันเชื้อราและบำรุงดิน
    • วาง ระบบให้น้ำแบบประหยัด ที่เปิด–ปิดอัตโนมัติ เช่น สปริงเกลอร์ตั้งเวลา
    • ทำปฏิทินการใส่ปุ๋ย–สางกอ–ตัดหน่อ เพื่อควบคุมคุณภาพและผลผลิต
    • ใช้การบันทึกข้อมูลแต่ละกอ (เช่น QR code) เพื่อติดตามอายุและการดูแลรายต้น